คู่มือการโฆษณาคลินิกความงาม 2025 [Update!]

คู่มือระเบียบการโฆษณาสถานพยาบาล 2568

สวัสดีครับนฐานะเอเจนซี่ด้านการตลาดสำหรับคลินิกความงาม เราได้รวบรวมสาระสำคัญจากการประชุมของสำนักสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 โดยคุณสาโรจน์ ยอดประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และคุณอโนชา ชุมวิริยะสุขกุล หัวหน้ากลุ่มการโฆษณาและเปรียบเทียบคดี เพื่อให้ท่านสามารถทำการตลาดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนที่ 1: อะไรที่ต้องขออนุญาตโฆษณา?

  1. ไม่ต้องขออนุญาต:
    • ชื่อและที่ตั้งของสถานพยาบาล
  2. ต้องขออนุญาต:
    • ข้อความ ภาพ และเสียงทั้งหมดที่ใช้ในการโฆษณา

ส่วนที่ 2: กระบวนการขออนุญาตโฆษณา

  1. ระยะเวลาพิจารณา:
    • การพิจารณาอนุมัติโฆษณาใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน
    • หากไม่ได้รับการอนุมัติ จะแจ้งภายใน 7 วัน
  2. ค่าธรรมเนียมการขออนุญาต:
    • สื่อ Internet: หน้าละ 500 บาท (ยื่นขอหน้าแรกของแต่ละช่องทาง เช่น Facebook, Instagram, LINE, TikTok, เว็บไซต์, Twitter, Google, Gowabi, HDmall, Shopee, Lazada)
    • วิดีโอ: วินาทีละ 50 บาท (ต้องส่ง Story Board พร้อมฟอนต์ขนาดไม่ต่ำกว่า 16 point)
  3. ข้อกำหนดสำหรับ Influencer:
    • หากใช้ Influencer หรือ Agency ในการโฆษณา ต้องยื่นขออนุญาตทุกคน
    • เช่น หากคลินิกมีเอเจนซี่ 50 คน ต้องยื่นขอ 50 เลข
    • หากไม่ปฏิบัติตาม จะถูกดำเนินคดี
  4. กรณีมีหลายสาขา:
    • หากมีการโฆษณาชวนให้ไปรับบริการที่สาขาต่างๆ ต้องขออนุมัติแยกตามจำนวนสาขา
    • ตัวอย่าง: คลินิกมี 77 สาขา ต้องขออนุมัติ 77 เลข ไม่สามารถใช้เพียง 1 เลขได้
    • หากฝ่าฝืน โทษปรับจะทวีคูณตามจำนวนสาขา

ส่วนที่ 3: เนื้อหาที่ห้ามโฆษณา

  1. การแสดงยา และเครื่องมือแพทย์:
    • ห้ามแสดงชื่อยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษในโฆษณา
    • ถ้าต้องการโฆษณาต้องใช้เป็นชื่อโปรแกรม เช่น “Program Botulinum Toxin” หรือ “Program ฉีด Botox”
    • ห้ามแสดงขวดยา บาร์โค้ด
    • ห้ามแพทย์ยืนคู่กับอุปกรณ์หรือเครื่องมือ (ผิดจริยธรรมแพทยสภา)
    • ห้ามแสดงสรรพคุณ ประโยชน์ คุณภาพ มาตรฐาน ส่วนประกอบ แหล่งกำเนิดเครื่องมือแพทย์
    • ห้ามแสดงรูปธงประเทศ
  2. เครื่องมือแพทย์:
    • ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนโฆษณา (พรบ.เครื่องมือแพทย์)
    • เมื่อโฆษณาในสถานพยาบาลต้องมีคำว่า “โปรแกรม” นำหน้าเสมอ เช่น “โปรแกรมรีจูรัน” “โปรแกรมเทอมาจ” “โปรแกรมอัลเทอร่า”
    • สามารถแสดงชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า หรือตราสัญลักษณ์ได้
  3. เครื่องสำอาง:
    • ห้ามนำเครื่องสำอางมาใช้ในการฉีด
    • ต้องแจ้งวิธีการใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เช่น “บำรุงผิวด้วย Chanel”
    • ต้องใช้ข้อความที่สื่อถึงการใช้ภายนอกเท่านั้น
  4. การรักษาและหัตถการที่ไม่ได้รับการรับรอง:
    • ห้ามโฆษณาการรักษาที่สภาวิชาชีพไม่รับรอง เช่น สเต็มเซลล์, anti-aging, ฉีดเพิ่มขนาด, PRP, killer cell
    • ห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง เช่น meso fat, ปากกาลดน้ำหนัก, magic pen, IV Drip สูตรพิเศษ
    • สามารถโฆษณา IV Vitamin C ได้ (เป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับ)
    • ห้ามโฆษณาหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ อย. ไม่อนุญาตหรือเพิกถอนทะเบียนไปแล้ว
    • ห้ามโฆษณาวิธีการใช้สารไม่ตรงวัตถุประสงค์ เช่น ฉีดด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
  5. การอบรมและคุณวุฒิ:
    • ห้ามโฆษณาการเข้าร่วมอบรมหรือให้การอบรมในหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ
    • ตัวอย่างที่ห้ามโฆษณา: “อบรมเทคนิคฉีดฟิลเลอร์จากอเมริกา” “แพทย์จบจากเกาหลี” “อเมริกาบอร์ด”
    • ห้ามจัดอบรมในสถานพยาบาลคลินิก เช่น เปิดคอร์สฉีดโบทอก หรือเปิดอบรมโดยอาจารย์
    • ห้ามแสดงข้อความหรือภาพที่บ่งชี้ว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่ไม่มีวุฒิบัตรหรืออนุมัติบัตร
  6. รางวัลและการรับรอง:
    • ห้ามโฆษณาการได้รับรางวัล (ถือเป็นการโอ้อวดเกินจริง)
    • ป้ายรับรางวัลหรือป้ายแสดงการอบรมสามารถติดในสถานพยาบาลได้ แต่ห้ามนำไปลงในสื่อโซเชียลมีเดีย

ส่วนที่ 4: กฎสำหรับโซเชียลมีเดียและออนไลน์

  1. การไลฟ์สด (Live):
    • ห้ามไลฟ์สดเด็ดขาด เนื่องจากอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
    • ห้ามเผยแพร่ภาพไลฟ์สด เพราะฝ่าฝืนมาตรา 38 วรรคหนึ่ง (ไม่ได้ขออนุมัติโฆษณา)
    • ห้ามไลฟ์แสดงการผ่าตัดหรือการให้บริการ
    • ตัวอย่างที่อาจทำได้ (แต่ไม่แนะนำ): แสดงอาคารสถานที่ มุมกาแฟ หรือโซฟาในคลินิก
  2. วิดีโอและภาพ:
    • สามารถโพสต์วิดีโอที่บันทึกไว้แล้วได้ แต่ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน
    • ห้ามโพสต์ภาพวิดีทัศน์การประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อตนเอง เช่น ภาพหมอฉีดหน้าให้ตัวเอง
  3. การเปรียบเทียบผลการรักษา:
    • ภาพรีวิวหรือภาพเปรียบเทียบก่อน-หลังต้องระบุวันเดือนปีที่เข้ารับบริการ
    • ต้องเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับบริการจริง
    • ห้ามตกแต่งภาพเพิ่มเติม
    • ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย
    • ต้องระบุข้อความใต้ภาพว่า: “ใช้เป็นตัวอย่างผลจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย”
  4. ข้อห้ามอื่นๆ:
    • ห้ามใช้คำผวน
    • ห้ามแสดงภาพความทุกข์ทรมาน
    • ห้ามแสดงภาพเข็ม
    • ห้ามโฆษณาว่า “พร้อมให้บริการ” หรือ “Coming Soon” หรือ “พบกันเร็วๆ นี้”
    • ห้ามโฆษณาการให้บริการนอกสถานพยาบาล
    • ห้ามโฆษณาภาพดาราพรีเซนเตอร์ที่แสดงตนเป็นแพทย์ในสื่อป้าย Billboard หรือโซเชียลมีเดีย
    • ห้ามขายคอร์สออนไลน์
  5. กิจกรรมส่งเสริมการขาย:
    • สำหรับกิจกรรมชิงโชคต่างๆ ต้องพิจารณา พ.ร.บ. การพนันประกอบด้วย
    • การจัดกิจกรรมชิงโชค ลุ้นรางวัล หรือการส่งเสริมการขายในลักษณะคล้ายการพนัน
      ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ส่วนที่ 5: บทกำหนดโทษและการบังคับใช้

  1. กรณีไม่รุนแรง:
    • การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559
    • โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับโฆษณา
    • ใช้มาตรการ “2565 พินัย” ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับความผิดที่มีโทษปรับอย่างเดียว เมื่อชำระค่าปรับแล้วถือว่าคดีจบ
  2. กรณีร้ายแรง:
    • เนื้อหาโฆษณาเป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ
    • มีความผิดตามมาตรา 68 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2559
    • โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับโฆษณา
    • หากยอมเสียค่าปรับ คดีอาญาจะเลิกกัน แต่จะถูกขึ้น blacklist
    • หากไม่ยอมเสียค่าปรับ คดีจะถูกส่งให้ตำรวจดำเนินคดีอาญาต่อไป
  3. การบังคับใช้:
    • มาตรา 38 วรรค 3 กำหนดให้ค่าปรับเป็นรายได้แผ่นดิน
    • สบส. มี MOU กับทุกหน่วยงานและ 10 กรม สำหรับการแจ้งเบาะแสการกระทำผิด
    • สบส. สามารถถอดโปรไฟล์ออกจากแพลตฟอร์มได้หากพบการกระทำผิด
  4. ความผิดทางจริยธรรมวิชาชีพ:
    • แพทย์ที่ฝ่าฝืนประกาศแพทยสภาเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาจถูกพักใบอนุญาต 6 เดือน

ส่วนที่ 6: การอุทธรณ์

หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งระงับโฆษณาตามมาตรา 39 สามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์ได้ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดย:

  • ยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
  • ต้องยื่นภายใน 15 วันนับจากวันที่ได้รับคำสั่ง

สรุป

การโฆษณาสถานพยาบาลต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ขอให้ทุกคลินิกตรวจสอบเนื้อหาโฆษณาให้ถูกต้องก่อนเผยแพร่ เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษทางกฎหมายและความเสียหายต่อชื่อเสียง หากมีข้อสงสัยประการใด แนะนำให้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือติดต่อ สบส. โดยตรง


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ที่นี่

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์ ธุรกิจความงาม สุขภาพ

ช่องทางการส่งข่าวประชาสัมพันธ์

กรุณาส่งข่าวประชาสัมพันธ์มาที่ Email: pr@dgh.agency

รายละเอียด
Home»News»คู่มือการโฆษณาคลินิกความงาม 2025 [Update!]